01 ม.ค. สระว่ายน้ำในบ้าน อยากสร้างก็สร้างได้จริงหรือ? สร้างแล้วส่งผลอะไรบ้าง
เชื่อว่ามีหลายครอบครัว ที่อยากสร้างสระว่ายไว้ในบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กๆ เพราะสระว่ายน้ำเป็นเหมือนที่พักผ่อนให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยไม่ต้องเสียเวลาไปข้างนอก แต่การสร้างสระว่ายน้ำในบ้านไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด วันนี้ซินแสสมปองจะมาแนะนำและตอบคำถามเกี่ยวกับการสร้างสระว่ายน้ำในบ้าน สระว่ายน้ำในบ้าน อยากสร้างก็สร้างได้จริงหรือ? สร้างแล้วส่งผลอะไรบ้าง แล้วลักษณะสระว่ายน้ำตามหลักฮวงจุ้ยควรเป็นอย่างไร?
สระว่ายน้ำในบ้าน อยากสร้างก็สร้างได้จริงหรือ?
สระว่ายน้ำจัดว่าเป็นพลังธาตุหยิน บ้านที่มีบริเวณแล้วอยากจะสร้างสระว่ายน้ำจะต้องดูว่า บริเวณรอบๆ บ้านเป็นอย่างไร มีการปลูกต้นไม้ที่รกครึ้มหรือไม่ เพราะหากมีการปลูกต้นไม้รกครึ้มแล้วยังสร้างสระว่ายน้ำเพิ่มอีก จะยิ่งเป็นการสร้างพลังงานหยินในบ้านให้สูงขึ้น กระทบต่อคนในบ้าน
สระว่ายน้ำอยู่ฝั่งซ้ายของบ้าน : จะส่งผลกระทบถึงผู้ชายในบ้าน
สระว่ายน้ำอยู่ฝั่งขวาของบ้าน : จะส่งผลกระทบถึงผู้หญิงในบ้าน
สระว่ายน้ำอยู่ด้านหลังบ้าน : ก็จะเกิดปัญหาครอบครัวตามมา
แต่ถ้าหากบริเวณรอบๆ บ้านมีลักษณะค่อนข้างร้อนโปร่ง การทำสระว่ายน้ำก็จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับพลังของหยินหยาง อันนี้คือการมองแค่ในส่วนของหยินหยางเท่านั้น ในขณะเดียวกันสำหรับการสร้างสระว่ายน้ำยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องดู นั่นก็คือทิศทางของบ้าน เพราะในบางทิศทางจะห้ามไม่ให้มีสระว่ายน้ำบริเวณหน้าบ้านหรือหลังบ้าน หรือบางทิศการมีสระว่ายน้ำฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวาจะส่งผลกระทบที่ไม่ดีได้ ดังนั้นการสร้างสระว่ายน้ำจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ ไม่ใช่ว่ามีพื้นที่อยากสร้างก็จะสร้างได้เลย
สร้างสระว่ายน้ำ ต้องสร้างให้ถูกทิศทาง
อย่างที่ซินแสสมปองแนะนำ นอกจากดูเรื่องบริเวณรอบๆ อีกหนึ่งเรื่องที่จำเป็นต้องดูก่อนสร้างสระว่ายน้ำ ก็คือทิศทาง ซึ่งทิศทางในการสร้างสระว่ายน้ำ ตามหลักฮวงจุ้ยควรเป็นดังนี้
สร้างสระว่ายน้ำไว้ทิศเหนือหรือทิศตะวันออกเฉียงเหนือ : เพราะเป็นทิศที่แสงแดดส่องถึงน้อยที่สุด ทิศทางของแสงแดดถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะแสงแดดจะสะท้อนน้ำเข้าสู่ตัวบ้าน หากสร้างสระว่ายน้ำในทิศที่แดดส่องถึงมากๆ จะส่งผลกระทบต่อคนในบ้าน โดยเฉพาะเรื่องของสายตา การมองเห็น
สร้างสระว่ายน้ำไว้ทิศใต้ : เพราะทิศใต้เป็นทิศของลมฤดูร้อน เมื่อพัดผ่านน้ำในสระก็จะนำความเย็นมาสู่ตัวบ้าน ซึ่งถือเป็นหลักฮวงจุ้ยที่เหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทย ส่วนชาวจีนจะไม่นิยมสร้างสระว่ายน้ำไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะเป็นทิศของลมหนาว ลมหนาวจะยิ่งพัดเอาความหนาวเย็นเข้ามายังตัวบ้าน ทั้งนี้ทั้งนั้นฮวงจุ้ยมักจะอิงหลักธรรมชาติเสมอ
สร้างสระว่ายน้ำไว้กลางบ้านจะดีหรือไม่?
ตามหลักฮวงจุ้ยแล้ว ไม่ควรสร้างสระว่ายน้ำ หรือขุดบ่อน้ำเอาไว้บริเวณกลางบ้าน เพราะจะส่งผลเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเจ้าของบ้าน ตำแหน่งกลางบ้านถือเป็นตำแหน่งแทนหัวใจของเจ้าของบ้าน หากไม่จำเป็นก็ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด หากมองตามความเชื่อจีน สภาพอากาศที่ประเทศจีนจะค่อนข้างหนาวเย็น การมีสระว่ายน้ำ บ่อน้ำอยู่กลางบ้าน จะเป็นการเพิ่มไอเย็น ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพคนในบ้านทำให้เจ็บป่วยได้ง่าย
ตำแหน่งสระว่ายน้ำเรียกโชคลาภ
หากคุณอยากสร้างสระว่ายน้ำในตัวบ้าน และอยากเสริมโชคลาภ เรียกเงินเรียกทอง ความเจริญรุ่งเรือง ตำแหน่งที่สร้างควรเป็นตำแหน่งมังกรเขียว หรือด้านซ้ายมือของบ้าน แต่หากต้องความมั่นคงในการงาน ความเงียบสงบ และเกื้อหนุนเรื่องเงินทองให้สร้างสระว่ายน้ำไว้ด้านขวาของบ้าน หรือที่เรียกตำแหน่งเสือขาว
ลักษณะสระว่ายน้ำตามหลักฮวงจุ้ย ควรเป็นแบบใด?
- สระว่ายน้ำทรงกลม มีขอบสระน้ำตั้งอยู่ภายในพื้นที่ใกล้ตัวบ้าน จะส่งผลให้เกิดโชคลาภเพิ่มพูน เหมาะกับบ้านที่ทำธุรกิจ ข้องเกี่ยวกับการเงิน
- สระว่ายน้ำทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า สร้างอยู่ในระยะห่างจากตัวบ้าน จะทำให้พลังหยินไม่รบกวนผู้อยู่อาศัย และยังเสริมโชคลาภให้อีกด้วย
- สระว่ายน้ำที่มีขนาดเล็กกว่าตัวบ้าน เพราะหากใหญ่กว่าตัวบ้านจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี คนในบ้านจะถูกครอบงำได้ง่าย
ลักษณะสระว่ายน้ำตามหลักฮวงจุ้ย แบบไหนที่ควรเลี่ยง?
- สระว่ายน้ำรูปทรงพระจันทร์เสี้ยว หันส่วนโค้งเข้าหาตัวบ้าน จะส่งผลให้ชีวิตของคนในบ้านไม่สงบสุข ไม่มีโชคลาภ
- สระว่ายน้ำรูปทรงคล้ายน้ำเต้า จะส่งผลให้คนในบ้านพบเจอแต่เรื่องร้าย มีเคราะห์ร้าย ประสบอุบัติเหตุได้ง่าย และมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดี
ที่สำคัญควรทำความสะอาดสระว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา อย่าปล่อยให้สกปรกหรือขุ่น ในทางฮวงจุ้ยถือว่าเป็นอัปมงคลต่อผู้อยู่อาศัย ทำให้มีสุขภาพไม่ดี เป็นโรคปอดได้ง่าย
สำหรับใครที่มีแผนอยากจะสร้างสระว่ายน้ำในบ้าน ก่อนตัดสินใจก็ควรดูบริเวณบ้าน ทิศทาง รวมไปถึงลักษณะของตัวสระให้ดีเสียก่อน เพราะมันอาจส่งผลกระทบต่อคนในบ้านได้ ฮวงจุ้ยไม่ใช่เรื่องความเชื่อ แต่เป็นเรื่องที่อิงจากหลักธรรมชาติ พลังที่ไม่สมดุลย่อมส่งผลต่อผู้อยู่อาศัย หากไม่มั่นใจแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
Sorry, the comment form is closed at this time.